สีสำหรับงานเฟอร์นิเจอร์ไม้

posted in: Uncategorized | 0

ประวัติความเป็นมา
ในอดีตการทำสีสำหรับงานเฟอร์นิเจอร์ไม้นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นงานไม้สักและไม้เนื้อแข็ง ลักษณะการทำสีจะเป็นเทคนิคที่ช่างเซี่ยงไฮ้ได้ทำกันมาแต่ช้านานแล้ว กล่าวคือ การทาสีด้วยชแลค โดยการผสมเกล็ดชแลคผสมกับกอฮอล์ ทาแลคเกอร์ ลงวานิช ทาสีน้ำมันสน ซึ่งสีที่ทำมีทั้งสีใส สีย้อม และสีทึบ เป็นงานที่โชว์เสี้ยนและงานเต็มเสี้ยน ซึ่งงานเต็มเสี้ยนนี้จะทำลำบากและใช้เวลานานมาก

        ช่างในอดีตมีการใช้สีด้วยวิธีดังกล่าวกันมาช้านานแล้ว ส่วนงานสีที่ทำกันอยู่ในปัจุบันนี้นับว่าเจริญขึ้นมากและได้มีระบบเทคโนโลยีใหม่ๆที่พัฒนามาเพื่อใช้กับอุตสาหกรรมงานสีเคลือบไม้ในเมืองไทยอยู่ตลอดเวลา ย้อนหลังจากนี้ไปประมาณ 20 กว่าปี ในเมืองไทยได้เริ่มมีการทำอุตสาหกรรมไม้ส่งออกอยู่บ้างแล้ว แต่จะเป็นงานสีธรรมชาติและเป็นงานไม้สักเป็นหลัก

        ส่วนอุตสาหกรรมสีเคลือบงานไม้ได้มีการเริ่มพัฒนาอย่างจริงจังประมาณปี พ.ศ. 2523 ซึ่งในเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ไม้มาจากไม้ที่มีค่าน้อยมากหรือเกือบจะไม่มีค่าเอาเลย คือเจ้าของสวนเจ้าของไร่ในขณะนั้นต้องจ้างคนมาตัดและโค่นทิ้งหลังจากที่เจ้าของไม้ดังกล่าวได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากมันไปเรียบร้อยแล้ว จนทำให้คนไทยคณะหนึ่งได้เห็นการสูญเสียถึงทรัพยากรธรรมชาติไปอย่างเปล่าประโยชน์ จึงมีความคิดที่ว่าจะทำอย่างไรกับไม้ดังกล่าวเพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับทรัพยากรธรรมชาติชนิดนี้ และเป็นการเพิ่มคุณประโยชน์ให้กับมนุษยชาติให้
ได้มากที่สุด จึงได้ทำการวิเคราะห์วิจัยและทำการพัฒนาร่วมกับชาวญี่ปุ่นท่านหนึ่งมาเป็นเวลาหลายปี ณ จังหวัดระยองและจังหวัดตรัง ไม้ที่ว่านั้นคือ ไม้ยางพารา

        ปัจุบันนี้สีเคลือบไม้ได้มีการพัฒนาทั้งตัวสินค้าที่มีความหลากหลายชนิด ทั้งคุณภาพและคุณสมบัติจากความต้องการของลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงสอดคล้องกับกฎระเบียบต่างๆของลูกค้าในแต่ละภูมิภาค คุณสมบัติและคุณภาพของสีที่มีใช้กันอยู่ในท้องตลาดขณะนี้ ขึ้นอยู่กับคุณภาพและคุณสมบัติของเรซิน (Resin) แต่ละตัวที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสี โดยสามารถจำแนกได้ตามชนิดของเรซิน หรือตามขบวนการสร้างฟิล์มของสี และตามชนิดของงานที่ตลาดต้องการ

งานสีที่ใช้กับงานเฟอร์นิเจอร์ไม้ (Timber Coating)
แบ่งตามประเภทของเรซินที่นำมาผลิต

1. ไนโตรเซลลูโลสแลคเคอร์ (Nitrocellulose Lacquer: NC)
2. พรี-แคททาลิสแลคเคอร์ (Pre-Catalysed Lacquer: PC)
3. แอซิดเคียวริ่งแลคเคอร์ หรือ อะมิโน (Acid Curing or Amino (two component): AC)
4. โพลียูรีเทน (Polyuretane (two component): PU)
5. โพลีเอสเตอร์ (Polyester (three component): PE)
6. ยูวีแลคเคอร์ (UV Lacquer: UV)
จากเรซินข้างต้นเมื่อนำมาผลิตเป็นสีแล้ว จะได้ออกมาเป็นสีที่โปร่งใส

ลักษณะของสีแยกตามลักษณะการมองเห็น
1. สีโปร่งใส (Clear Lacquer)
2. สีทึบ (Pigmented Lacquer)

สีโปร่งใสมีองค์ประกอบสำคัญคือ
– Resin / Binder (ตัวประสาน, ตัวยึดเกาะ)
– Solvent (ตัวทำละลาย)
– Additive (ตัวปรับสภาพ, ตัวปรุงแต่ง)

สีทึบมีองค์ประกอบสำคัญคือ
– Resin / Binder (ตัวประสาน, ตัวยึดเกาะ)
– Solvent (ตัวทำละลาย)
– Pigment (ตัวผงสี)
– Additive (ตัวปรับสภาพ, ตัวปรุงแต่ง)